บีโอไอย้ำไทยเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมใหม่

12 ตุลาคม 2563

     จากที่ได้มีข่าวเผยแพร่ในลักษณะว่า ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากประเทศไทยไม่มีปัจจัยที่ดึงดูดการผลิต รวมทั้งมีการทุ่มเททรัพยากรไปกับการพัฒนาในทิศทางเดิมๆ ทำให้ประเทศไทยไม่มีความได้เปรียบในสายตานักลงทุนนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ขอชี้แจงดังนี้

     1. รัฐบาลได้ตระหนักถึงสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้ปรับเปลี่ยนนโยบายให้มุ่งเน้น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและบริการของประเทศไปสู่สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการสร้างรายได้และการส่งออก ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมานโยบายส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้ให้ความสำคัญแก่การกระตุ้นการลงทุนที่จะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมและบริการ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น จูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสนับสนุนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบอัตโนมัติ การใช้ระบบดิจิทัล หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

     มาตรการเหล่านี้จะช่วยพัฒนา “ฐานรายได้ใหม่” สำหรับประเทศไทยเพราะเป็นการสร้างฐานการผลิตและบริการใหม่ๆ และ EEC ก็เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลมุ่งหมายให้เป็นแหล่งรองรับกิจการใหม่ๆ เหล่านี้ นับว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดฐานการผลิตเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้วให้ก้าวหน้าต่อไป

     2. ในช่วงที่ผ่านมามีการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติด้วยเหตุผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าหรือต้นทุนการผลิตในแหล่งผลิตเดิมที่สูงเกินไป ประเทศไทยยังคงเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่สำคัญของอาเซียน แม้ว่าปัจจัยสนับสนุนบางประการจะลดความสำคัญลง เช่น ค่าแรง สิทธิพิเศษทางการค้า และโครงสร้างประชากรสังคมสูงวัย แต่ไทยยังมีความได้เปรียบที่บริษัทข้ามชาติให้ความสนใจ เช่น ความเข้มแข็งของ Supply Chain ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และการแพทย์ ทำเลที่ตั้งอันเป็นยุทธศาสตร์ซึ่งสนับสนุนด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ ซึ่งจะเสริมบทบาทของไทย ในฐานะ Logistics Hub อย่างมีนัยสำคัญ

     นอกจากนี้ ประเทศไทยยังพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าสามารถจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้เป็นอย่างดีและไม่กระทบต่อการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรม โรงงานไม่ต้องหยุดการผลิตเหมือนที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและได้มีการโยกย้ายยอดสั่งซื้อมาประเทศไทยสำหรับอุตสาหกรรรมที่ความต้องการยังขยายตัวและต้องการแหล่งผลิตที่คล่องตัว

     3. จากการสำรวจของบีโอไอ พบว่าโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ย้ายฐานการผลิตมาไทยที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกรกฏาคม 2561-30 กันยายน 2563 มีทั้งสิ้น 170 บริษัท เม็ดเงินลงทุนประมาณหนึ่งแสนล้าน นักลงทุนเหล่านี้มาจากหลากหลายประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และยุโรป ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 90 มาจากจีน ไต้หวันและฮ่องกง สาขาอุตสาหกรรมหลักที่รองรับการลงทุนเหล่านี้ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์โลหะ

     สำหรับนโนบายการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่เป็นแรงหนุนให้ประเทศไทยเป็น “ฐานการผลิตของอุตสาหกรรมใหม่” มีดังนี้

     1. บีโอไอได้กำหนดมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุน โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปีหลังจากสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ยังคงให้ความสำคัญแก่การลงทุนที่จะรองรับการสร้างฐานรายได้ใหม่หรืออุตสาหกรรมและบริการที่จะเป็นอนาคตของประเทศไทยได้

     2. ปรับรูปแบบกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนให้ทันสมัยอยู่เสมอ เช่น การเปิดประเภทกิจการโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดสมัยใหม่ การออกมาตรการสนับสนุนแนวทาง BCG (Bio, Circular, Green Economy) และ การออกมาตรการระยะสั้นเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น มาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ มาตรการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิมเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุน ในอุตสาหกรรมการแพทย์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมี 52 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 174 มูลค่าเงินลงทุนรวม 13,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 123 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

     3.  ให้ความสำคัญเรื่องมาตรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่องโดยบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีการลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากบีโอไอ ส่วนมาตรการสนับสนุนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการก็ยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไปเพราะจะมีบทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการให้แข่งขันได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการนำระบบดิจิทัลและระบบอัตโนมัติมาใช้

More Informations

No133_2563.pdf